“มะลิ” เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ผสม ไทย ใส่ ญี่ปุ่น กับ 4 วัฒนธรรมล้านนา

เพลงใหม่จาก CGM48 ไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น ที่ได้เปิดตัวไปในชื่อเพลง “มะลิ” นั้นมีความพิเศษที่เป็น Original Song เพลงเเรกของ CGM48 หรือพูดได้เลยว่าเป็นเพลงเเรกของ 48Group ในประเทศไทย ได้เปิดตัวเพลงเต็มๆให้เเฟนคลับได้รับชมรับฟังกันไปเเล้วในงาน CGM48 3rd SINGLE “มะลิ FIRST PERFORMANCE”  ที่จัดขึ้นที่บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ พร้อมทั้งเป็นการโชร์เเสดงเพลงนี้สดๆครั้งเเรกของพวกเธออีกด้วย

โดยความพิเศษของเพลงนี้ คือการผสมผสานความเป็นไทย-ล้านนาลงไปในเพลง มีการเเสดงศิลปะวัฒนธรรมทางล้านนาผสมลงไปถึง 4 แบบด้วยกันคือ
1.การตีกลองสะบัดชัย การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย

2.ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเล็บเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ทางภาคเหนือโดยเฉพาะรูปแบบการฟ้อนมีอยู่ ๒ แบบ คือแบบพื้นเมืองหรือฟ้อนเมือง และแบบคุ้มเจ้าหลวง กระบวนท่ารำเป็นลีลาท่าฟ้อนที่มีความงดงามเช่นเดียวกับฟ้อนเทียน เพลงแต่ไม่ถือเทียน นิยมฟ้อนในเวลากลางวัน สำหรับชื่อชุดการแสดงจะมีความหมายตามลักษณะของผู้แสดงที่จะสวมเล็บยาวสีทองทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ

3.ฟ้อนกิงกะหร่า การฟ้อนนกกิงกะหร่า เป็นการแสดงที่ชาวไทใหญ่คิดขึ้น มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ผู้แสดงจะแต่งกายเลียนแบบนกยูง ถ้าเป็นชายแต่งกายเป็นนกตัวผู้ กิ่งนะหร่า (กินนร) ถ้าเป็นหญิงแต่งกายเป็นนกตัวเมีย กิ่งนะหรี่ (กินนรี) ส่วนใหญ่นิยมฟ้อนในช่วงงานวันออกพรรษาเพราะชาวไทใหญ่ มีความเชื่อว่า นกกิงกะหร่าเป็นสัตว์ที่มาร่วมถวายการฟ้อนรำแด่พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จกลับจากการโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

4.ฟ้อนขันดอก เป็นการแสดงที่พ่อครูมานพ ยาระนะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2548 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการแสดงเพื่อเป็นการฟ้อนรำบูชาพระรัตนตรัย เพื่อให้บังเกิดความสงบร่มเย็นให้แก่บ้านเมือง โดยมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงเป็นขันดอก หรือพานไม้ใส่ดอกไม้แบบล้านนา ซึ่งใช้ตบแต่งเพื่อบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในงานบุญทางศาสนาโอกาสต่าง ๆ